Powered By Blogger

วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556

ผลกระทบของเทคโนโลยี


                                      ผลกระทบของเทคโนโลยี

 ความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนับเป็นเครื่องมือในการปฏิวัติวัฒนธรรมไทย จากวัฒนธรรมดั้งเดิมให้เข้ากับวัฒนธรรมยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยอารยธรรมตะวันตก และจากการปฏิวัติวัฒนธรรมที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้คนจำนวนมากของประเทศโดยเฉพาะคนในสังคมชนบทตามไม่ทันความเจริญทางเทคโนโลยี ยังผลให้สภาพสังคมไทยในปัจจุบันมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างเห็นได้ชัดเจน จนบางครั้งไม่สามารถสรุปได้ว่าวัฒนธรรมที่ดำเนินอยู่ในสังคมปัจจุบันนี้เป็นลักษณะของวัฒนธรรมไทยหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าเป็นวัฒนธรรมสากลที่ชาวโลกทั่วไปถือปฏิบัติกันเสียมากกว่า
      กระนั้นก็ตาม คงปฏิเสธมิได้ว่าในปัจจุบันความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีผลกระทบต่อสังคมไทยทั้งในทางบวกและทางลบมากมายเพียงใด แต่สิ่งที่น่าพิจารณาคือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยมิได้เกิดจากการค้นคว้าวิจัยและทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ อีกทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือที่นำมาซึ่งภาพลักษณ์ที่ดูทันสมัยของประเทศเท่านั้น เนื่องจากประเทศไทยใช้วิธีซื้อเทคโนโลยีเข้ามาแทนการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในขั้นพื้นฐาน ทำให้ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นประเทศที่ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา เนื่องจากยังมิได้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแกนสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างมุ่งมั่น และมีทิศทางที่แน่นอน ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะพึ่งพาตนเองทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ จำเป็นที่จะต้องสร้างจิตสำนึกของคนในชาติให้มีทักษะในการค้นคว้าหาความรู้ รู้จักคิด และรู้จักใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้
ดังที่กล่าวอ้างมาแล้วนั้น เราคาดหวังว่าท่านผู้อ่านคงพอจะเห็นความสำคัญ และผลกระทบของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อสังคมไทย เพราะเท่าที่ประเทศไทยเป็นอยู่ในทุกวันนี้ส่วนหนึ่งนั้น มาจากความเจริญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้น ในยุคสารสนเทศที่นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้แก่การสื่อสารหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งเป็นยุคแห่งข่าวสารที่พัฒนาเคียงคู่ไปกับยุคแห่งเทคโนโลยี จากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ฉันคิดว่าน่าที่จะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยมาใช้สร้างแนวจริยธรรมเพื่อการพัฒนาสังคมเดิมให้ดีขึ้น
เป็นที่น่าสังเกตว่ากระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นมีความใกล้เคียงกับการเรียนรู้ทางด้านศาสนา
        ทั้งนี้เพราะวิทยาศาสตร์และศาสนานั้นเป็นกระบวนการทางความคิดที่เป็นระบบซึ่งดำเนินไปอย่าง เป็นขั้นตอนเพื่อแสวงหาคำตอบให้กับสิ่งที่ไม่รู้ กล่าวคือ กระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และศาสนาต่างเริ่มต้นที่ปัญหาจากตัวมนุษย์ผู้มีความสงสัยในสิ่งที่ตนเองไม่ทราบ ดังนั้น คนจึงตั้งสมมติฐานถึงสาเหตุหรือที่มาแห่งปัญหานั้น หลังจากนั้นจึงลงมือเก็บรวมรวมข้อมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง และนำข้อมูลที่ได้นั้นมาลำดับความรู้หรือวิเคราะห์เพื่อค้นหาความจริง และในที่สุดคนก็จะได้รับคำตอบในสิ่งที่ตนเองเคยงุนงงสงสัย และเป็นที่แน่นอนว่าเมื่อคนได้รับคำตอบไม่ว่าจะเป็นทั้งคำตอบที่ชัดเจนทั้งในแง่ของวิทยาศาสตร์และศาสนาแล้ว คนย่อมต้องนำความรู้ที่ได้นั้นมาใช้ประโยชน์ และความรู้เหล่านั้นจะนำมาซึ่งการพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น เพราะกระบวนการแสวงหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์และศาสนานั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรู้จักใช้เหตุผล มีความเชื่อมั่นในตนเองและคิดทุกอย่าง ๆ เป็นขั้นตอนและเป็นระบบมากขึ้น
ความรู้ทั้งปวงที่ได้จากบทสรุปทางจากการทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์ และการแสวงหาสัจจธรรมจากศาสนา ทำให้มนุษย์รู้จักใช้เหตุผลแล้วเริ่มมองตนเอง และมองสิ่งต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ซึ่งจะทำให้มนุษย์เล็งเห็นข้อดีและข้อบกพร่องทางจริยธรรมทั้งของตนเองและของสังคม
ในที่สุดแล้วเมื่อมนุษย์มีประสบการณ์ในการคิดด้วยเหตุผลอันจะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาทางจริยธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมรวมถึงการสรรสร้างจริยธรรมให้แก่สังคมของตนเองอีกด้วย
ในทรรศนะของฉัน ปัจจุบันที่วิทยาศาสต์และเทคโนโลยีได้เข้ามามีอิทธิพลต่อคนไทยมากขึ้น ทำให้คนเมินเฉยต่อเรื่องจริยธรรม เพียงเพราะเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องที่ตนเอง “รู้” อยู่แล้ว จึงทำให้ความพยายามที่จะ “รู้” จางหายไป ประกอบกับระบบสังคมที่ซับซ้อนขึ้น ทำให้คนมีลักษณะเป็นปัจเจกบุคคลที่ปรารถนาอิสระเสรี แต่ใช้สติปัญญาน้อย อันนำไปสู่การแสวงหาหนทางที่ง่าย ๆ เช่น การนิยมวัตถุ หรือวัตถุนิยม
      อันความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุนั้นพบได้ในเกือบทุกสังคมมนุษย์ แต่อยู่ที่คนจะยินดีรับเอาเฉพาะสิ่งที่เหมาะสมดีงามตามความต้องการของส่วนรวม และปรับปรุงให้เข้ากับวัฒนธรรมของตนอย่างเหมาะสม ไม่ตกอยู่ภายใต้ลัทธิบริโภคนิยม อีกทั้งยังสามารถรักษาวัฒนธรรมประจำชาติของตนไว้ได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากยอมรับเอาแต่ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาอย่างไม่หยุดยั้ง หรือไม่ตระหนักในในการถาโถมของเทคโนโลยี ย่อมทำให้เกิดความต้องการในสิ่งแปลกใหม่อันนำมาซึ่งความสะดวกสบายแห่งตนมากขึ้นเรื่อยไป ซึ่งอาจจะทำให้จิตใจหมกมุ่งขุ่นมัว เพียงเพราะต้องการให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีที่ทันสมัย และในที่สุดเราอาจสูญเสียวัฒนธรรมประจำชาติของตนไปทีละน้อย ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของมนุษย์ย่อมลู่ไหลและยอมรับความเปลี่ยนแปลงอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น